วันที่ 6 ธันวาคม 2567 นายพงศ์ทอง พงศ์วิญญู นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการ และนายสิทธิพล สมพงศ์ นักวิชาการสหกรณ์ปฏิบัติการ กลุ่มพัฒนาสหกรณ์โคนมและโคเนื้อ ได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาแนวทางส่งเสริมการใช้อาหารหยาบคุณภาพสูง (ไซเลท) ของสหกรณ์โคนมไทย - เดนมาร์ค (มิตรภาพ) จำกัด ที่ได้รับการส่งเสริมเชิงกระบวนการนวัตกรรม โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสระบุรีได้มีหลักการคิดเรื่องงานส่งเสริมของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสระบุรี คือการวิเคราะห์ที่มาของรายได้สหกรณ์ในการซื้อขายน้ำนมดิบ ว่ามาจาก "คุณภาพน้ำนมดิบ" ที่สหกรณ์รับซื้อจากสมาชิก ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบของสมาชิกจึงเป็นการเพิ่มรายได้ของสหกรณ์เช่นกัน ซึ่งแรงจูงใจทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาวิถีเกษตรกรรมของสมาชิกเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายย่อย รายได้ของสมาชิกจึงขึ้นอยู่กับราคารับซื้อน้ำนมดิบ x ปริมาณน้ำนมดิบที่สมาชิกผลิตได้ แนวทางการส่งเสริมจึงใช้ผลลัพธ์ของ "ราคารับซื้อ" เป็นเป้าหมายในการดำเนินงาน ถึงแม้ว่าจะมีการตั้งตลาดกลางในการรับซื้อแต่การซื้อขายน้ำนมดิบจะวัดจากคุณภาพเป็นสำคัญ ซึ่งสำนักงานสหกรณ์จังหวัดประเมินว่าราคารับซื้อน้ำนมดิบในพื้นที่เกษตรกรมักถูกหักจากคุณภาพที่ไม่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน จึงมีแนวคิดในการบูรณาการร่วมกับกรมปศุสัตว์ในการพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบ ควบคู่กับการเพิ่มปริมาณน้ำนมดิบผ่านการพัฒนาอาหารสัตว์ โดยการใช้อาหารหยาบคุณภาพสูงในสัดส่วนที่สูงขึ้น ส่งผลให้คุณภาพน้ำนมดิบที่สมาชิกส่งสหกรณ์มีคุณภาพดีและได้รับราคาส่วนเพิ่ม การบูรณาการส่วนงานราชการในพื้นที่เป็นลักษณะเฉพาะในการส่งเสริมแบบมุ่งเป้า โดยการออกแบบวิธีการส่งเสริมเฉพาะเจาะจง จากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ สามารถถอดแนวความคิดขั้นตอนการดำเนินงานแบบบูรณาการในพื้นที่ เป็นองค์ประกอบ "4 - โค" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1) Co-nnection: การสร้างสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการและบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อความสะดวกในการประสานงาน และการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน
2) Co-operation: ดำเนินงานติดตามเป้าหมายเพื่อการส่งเสริมในพื้นที่ โดยแยกบทบาทการทำงานอย่างชัดเจน เช่น งานส่งเสริมการผลิต การส่งเสริมธุรกิจ เป็นต้น ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้แบบพลวัต (dynamic learning process) เวลาเข้าถึงปัญหาระหว่างหน่วยงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
3) Co-creation: การจัดทำโครงการให้สอดรับระหว่างส่วนงาน เพื่อจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพในการส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรผู้ผลิตในพื้นที่
4) Co-evaluation เป็นการวางแผนและติดตามกลุ่มเป้าหมายร่วมกันระหว่าง 2 ส่วนงาน เพื่อทราบข้อจำกัดของการจัดทำโครงการและการส่งเสริมในพื้นที่
ทั้งนี้การศึกษารูปแบบการส่งเสริมการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายย่อยอันส่งผลต่อผลการดำเนินงานของสหกรณ์ของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสระบุรี จะใช้เป็นแนวทางต้นแบบในการผลักดันการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่อื่นต่อไป
กองพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร
อาคาร 1 ชั้น 2 กรมส่งเสริมสหกรณ์
12 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทรศัพท์/โทรสาร 0 2280 1341 ไปรษณีย์อิเลคทรอนิกส์ :
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2565 โดยกองพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร
copyright © 2022 agriculture sector cooperative and farmer groups development division
ภาพและวีดีโอ จากเว็บไซต์ canva.com